สามารถเลือกปรับขนาดตัวอักษรได้ 3 ระดับ คือ 20% 30% และ 40% จากขนาดมาตรฐาน
การปรับระยะห่างของตัวอักษร และช่องว่างระหว่างบรรทัด สามารถปรับได้ 3 ระดับ เพื่อให้อ่านข้อมูลต่างๆ ได้ง่ายขึ้น
ขยายขนาดของลูกศรชี้ตำแหน่ง (Cursor) ให้ใหญ่ขึ้นถึง 400%
จะมีเส้นปรากฏขึ้น พร้อมกับการเลื่อนลูกศรชี้ตำแหน่ง เพื่อให้ผู้อ่านสามารถโฟกัสข้อความที่ต้องการอ่านได้สะดวกขึ้น
ช่วยเน้นและแยกส่วนของลิงค์หรือปุ่มต่างๆ ออกจาก เนื้อหาภายในเว็บไซต์ เพื่อให้สามารถมองเห็นปุ่มได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
สามารถเลือกปรับชุดสีของเว็บไซต์ได้ 4 แบบตัวอักษรและปุ่มต่างๆ มีสีเข้มคมชัด มองเห็นได้ชัดเจน
ตำนานเสาร้องไห้ วัดสูง อำเภอเสาไห้
ความเชื่อ ความศรัทธา เป็นบ่อเกิดของความสามัคคีร่วมใจ สิ่งเหล่านี้สามารถสร้างสายสัมพันธ์ของผู้คนขึ้นมาได้อย่างแนบแน่นกลมเกลียว ด้วยเพราะมีสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจอย่างเดียวกัน อย่างเช่น ชาวบ้านที่อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี ที่ได้เผชิญเรื่องราวน่าอัศจรรย์ร่วมกันเมื่อหลายสิบปีก่อน และเรื่องราวลี้ลับในวันนั้น เป็นที่โจษจันท์จนกลายมาเป็นชื่ออำเภอในทุกวันนี้ “ตำนานเสาร้องไห้ วัดสูง อำเภอเสาไห้”
“เสาร้องไห้” ที่กล่าวถึงอยู่นี้คือเสาไม้ตะเคียนขนาดใหญ่อยู่ที่ศาลเจ้าแม่นางตะเคียนในวัดสูง มีประชาชนไปเคารพบูชากันมาก ว่ากันว่าเป็น “เจ้าแม่” สิ่งของที่นำไปบูชาจึงล้วนเป็นของใช้สตรีทั้งสิ้น ความศักดิ์สิทธิ์เริ่มต้นขึ้นร้อยกว่าปีก่อน เมื่อครั้งสร้างกรุงเทพฯ เป็นราชธานี ทางการได้มีการประกาศให้หัวเมืองทุกแห่ง คัดเลือกเอาเสาไม้ที่มีลักษณะงดงามเพื่อจัดทำเป็นเสาเอกของกรุงเทพฯ เมืองสระบุรีได้ส่งเสาไม้ตะเคียนทองขนาดใหญ่ต้นหนึ่งพบที่ป่าดงพญาเย็น(มวกเหล็ก) ซึ่งมีลักษณะงดงามมากล่องลงไปตามลำน้ำป่าสัก เสาต้นนี้ล่องไปจนถึงพระนครแล้วและเข้ารับการคัดเลือกแรกว่าจะได้เป็นถึงเสาเอก แต่ทางการติติงมาว่าส่วนปลายเสาคด จึงตกการคัดเลือกไป ด้วยเหตุนี้จึงมีความโศกเศร้าเสียใจ ร้องไห้ลอยทวนน้ำจากพระนครขึ้นมายังแม่น้ำป่าสักตลอดคืน มาสว่างที่บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอเสาไห้ ขณะนั้นชาวบ้านตื่นขึ้นหุงหา ข้าวปลาอาหารแล้วได้ยินเสียงผู้หญิงร้องไห้แถวแม่น้ำจึงพากันออกมาดู พบเสาตะเคียนต้นหนึ่งลอยวนอยู่กลางแม่น้ำแล้วค่อย ๆ จมลง หลังจากนั้นมักจะมีคนได้ยินเสียงร้องไห้อยู่เสมอ จึงพากันเรียกชุมชนละแวกนั้นว่า บ้านเสาไห้
เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2501 นางเฉลียว จันทร์ประสิทธิ์ ได้ฝันว่า มีผู้หญิงคนหนึ่งมาบอกว่าเป็นนางไม้ประจำเสาต้นดังกล่าวที่จมน้ำอยู่ จึงรีบไปบอกให้สามีเอาเสาขึ้นมาจากน้ำ แต่นายเผ่าผู้เป็นสามีไม่เชื่อ นางไม้ของเสาต้นนี้ได้ไปเข้าทรงกับผู้อื่นอีกหลายครั้ง จนในที่สุดชาวบ้านหลายคนก็ได้ไปร้องขอให้นายเผ่าเอาเสาต้นนี้ขึ้นมา ในที่สุดก็เริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2501 ในวันนั้นแดดร้อนจัดมาก ขณะที่กำลังนำเสาขึ้นจากน้ำ ท้องฟ้าก็มืดครึ้มลง มีเสียงฝ้าผ่าดัง แลเห็นเป็นประกายสีเขียวไปทั่ว เสียงฟ้าร้องคำรามทำท่าคล้ายฝนจะตก ทำให้ผู้คนที่มาเข้าร่วมพิธีกันเป็นจำนวนมากต่างตื่นตาตื่นใจ เมื่อถึงเวลา 09.00 น. เริ่มพิธีเคลื่อนเสาไปประดิษฐานที่วัดสูง โดยมีการตั้งศาลสูงเพียงตา มีหัวหมูซ้ายขวา บายศรี 3 ชั้น ใช้ด้ายสายสิญจน์ผูกที่เสา แล้วใช้เชือกผูกแพที่รับเสาให้ประชาชนดึง เมื่อได้ฤกษ์ พระสงฆ์ 9 รูปเจริญชัยมงคลคาถา ประชาชนที่อยู่บนฝั่งหน้าที่ว่าการอำเภอเสาไห้ ก็ร่วมกันดึงเชือกแพลูกบวบให้เคลื่อนไปทางทิศตะวันออก มีเรือแตรวงนำขบวน มีเรือต่าง ๆ ร่วมขบวนอีกเป็นจำนวนมาก ในวันนั้นที่นำเสาขึ้นจากน้ำ มีประชาชนมาร่วมพิธีมากถึงประมาณสามหมื่นคนเลยทีเดียว นับเป็นวันประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของชาวอำเภอเสาไห้ที่ต้องจารึกไว้
ต่อมา จึงได้สร้างศาลถาวรขึ้นที่หน้าพระอุโบสถในวัดสูง เป็นศาลกว้าง 4 เมตร ยาว 15 เมตร มีมุขออกด้านตะวันออก พื้นคอนกรีตมีฐานก่ออิฐสูงรองรับเสาตะเคียน และเมื่อวัดสูงได้สร้างศาลาการเปรียญหลังใหม่ขึ้น จึงได้ดัดแปลงศาลาการเปรียญ หลังเดิมเป็นอาคารทรงไทยสวยงาม และอัญเชิญเสาแม่นางตะเคียนมาประดิษฐานที่ศาลหลังใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2530 มาจนถึงทุกวันนี้ และในวันที่ 23 เมษายนของทุกปี จะมีพิธีอาบน้ำเสาแม่นางตะเคียน โดยพ่อเมืองหรือผู้ว่าราชการจังหวัด ถือเป็นประเพณีพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ของอำเภอเสาไห้
แม่นางตะเคียน ที่วัดสูง อำเภอเสาไห้นี้ขึ้นชื่อเรื่องความเข้มขลังศักดิ์สิทธิ์ ขออะไรก็มักจะสำเร็จสมความปรารถนา จึงมักจะเห็นคนมาถวายสิ่งของแก้บนอยู่เสมอ ภายในศาลจะมีของแก้บนวางไว้อยู่ตามมุมต่าง ๆ มีทั้งตู้เสื้อผ้า โต๊ะเครื่องแป้ง ชุดไทย เครื่องสำอาง ฯ นอกจากนี้ทางวัดยังจัดแสดงระฆังหินเก่าแก่สมัยทวาราวดีเอาไว้ที่มุมหนึ่งของศาลด้วย ด้านหลังศาลเจ้าแม่ตะเคียนมีบ่อน้ำ สามารถทำบุญให้อาหารปลาได้ ก่อนกลับอย่าลืมแวะกราบสักการะพระศรีพุทธมงคลดลมุนี (หลวงพ่อดำ) ที่วิหารด้านข้างศาลเจ้าแม่ตะเคียน
เรียบเรียงโดย
นายนิติกรณ์ สุขสบาย